Social Share

 

ว่าที่คุณแม่จะรู้ตัวได้อย่างไรว่าท้อง? รู้ได้จากการสังเกตร่างกายตัวเองค่ะ ร่างกายจะส่งสัญญาณบอกเป็นอาการต่าง ๆ ให้คุณแม่ได้รับรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เพราะเมื่อเกิดการตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์จนแสดงอาการออกมาจนสังเกตได้  โดยจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด มีอาการอะไรที่บอกว่าท้องได้บ้างนั้นมาดูกันค่ะ

  1. ประจำเดือนขาด โดยอาการที่ชัดเจนที่สุดก็คือประจำเดือนขาด หากปกติประจำเดือนมาสม่ำเสมอและตรงเวลา แต่อยู่ ๆ ประจำเดือนขาดหาย ไม่มาตามปกติ หรือมาล่าช้าเกิน 12 – 16 วัน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าอาจจะกำลังตั้งท้อง
  2. คัดเต้านมและหัวนมมีสีที่เปลี่ยนไป เต้านมตึง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้น หนักขึ้น เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัว อาการคัดเต้านมที่เกิดจากการตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้หลังเริ่มตั้งครรภ์ 1-2 สัปดาห์ และอาจเป็นติดต่อกันกว่า 3 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม บริเวณวง ๆ รอบหัวนมจะคล้ำขึ้นและขยายใหญ่ขึ้น อาจพบหลอดเลือดบริเวณรอบ ๆ เต้านมนูนขึ้นชัดเจนขึ้น รวมทั้งมีตุ่มเล็ก ๆ บริเวณรอบหัวนมเพิ่มจำนวนมาก
  3. ปวดหน่วงท้องน้อย มีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยหรือมีอาการคล้ายกับเป็นตะคริวบริเวณท้องน้อย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่มดลูกเริ่มมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จึงส่งผลให้รู้สึกปวดหน่วง ๆ หรือปวดคล้ายเป็นตะคริวที่บริเวณท้องน้อย เป็นอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรง
  4. ปวดหลัง คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดหลังตั้งแต่เดือนแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และส่งผลต่อเส้นเอ็น ไขข้อ และกระดูกเชิงกราน ทำให้รู้สึกปวดหลังได้
  5. ปัสสาวะบ่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือด และของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เลือดผ่านไปที่ไตมากกว่าเดิมและในขณะเดียวกันการขยายตัวของมดลูกก็ไปเบียดกระเพาะปัสสาวะส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นนั่นเอง
  6. ท้องอืด คุณแม่จะรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง และท้องอืด ซึ่งอาการท้องอืดนี้จะมีลักษณะที่คล้ายกับช่วงเริ่มมีประจำเดือน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน
  7. อาการมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด เป็นสัญญาณของไข่ที่มีการปฏิสนธิในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะมีเลือดออกมาเล็กน้อย ประมาณ 1-3 วันที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก และบางคนอาจไม่มีอาการนี้
  8. จมูกไวต่อกลิ่น มีความรู้สึกไวต่อกลิ่นมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่เพียงกลิ่นอาหารเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกลิ่นทุกชนิดรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นตัวของสามี กลิ่นน้ำหอม หรือกลิ่นสิ่งของต่าง ๆ บางกลิ่นอาจจะได้กลิ่นแรงจนกลายเป็นเหม็นและอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนหรือบางรายอาจมีอาการเหม็นอาหาร
  9. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ตั้งครรภ์ระยะแรก อาจมีอาการอยากอาหารที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน หรือชอบอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ เช่น ของดอง หรือของที่มีกลิ่นเฉพาะตัว หรือรู้สึกอยากรับประทานอะไรแปลก ๆ หรือไม่มีประโยชน์
  10. มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มักมีอาการเหนื่อยล้าเกิดขึ้นได้ในช่วง 3 เดือนแรก าเหตุเกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน และเหนื่อยล้าได้ง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ
  11. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายการผันผวนและการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนในช่วงแรก ๆ อาจทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ทั้งความรู้สึกทางบวกและทางลบ เช่น หัวเราะง่าย ตื่นเต้นง่าย เศร้าง่าย ร้องไห้ง่าย หงุดหงิดง่าย
  12. ปวดหัว/วิงเวียนศีรษะ เป็นอาการปกติในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงปริมาณการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ง่ายในช่วงแรกของการตั้งครรภ์
  13. คลื่นไส้ อาเจียน หรือแพ้ท้อง เป็นอาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คล้ายกับอาการเมารถ หรือเมาเรือ เนื่องจากร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคน
  14. อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเติบโตของทารก อาจจะรู้สึกเหมือนมีไข้ต่ำ ๆ ในตอนเย็น แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตราย สามารถพบได้ปกติ

 

อาการคนท้องของคุณแม่แต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกัน อย่างไรลองสังเกตตัวเองดูนะคะว่ามีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีอาการข้างต้นคุณแม่อาจทำการตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์เพื่อเช็คดูได้ และเมื่อผลตรวจออกมาว่าตั้งท้องคุณแม่ควรไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล เพื่อให้คุณหมอตรวจอายุครรภ์ที่แน่นอนและติดตามดูแลทารกในครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ ตรวจคัดกรองความเสี่ยงและป้องกันการเกิดปัญหาช่วงตั้งครรภ์ ในขณะเดียวกันก็จะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอถึงการดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์ให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และทารกในครรภ์นะคะ