Social Share

วันพืชมงคล และความสำคัญของวันพืชมงคล

.

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง จะมีประวัติความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร #MommyDaddyLife มีข้อมูลมาฝากค่ะ

ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีกรรม 2 พิธีที่กระทำร่วมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

  1. พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงาม
  2. พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความสำคัญของวันพืชมงคล

วันพืชมงคล เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเกี่ยวกับการเพาะปลูก เนื่องจากเห็นความสำคัญของการเมล็ดพืชพันธุ์อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อวิถีการ ผลิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ นอกเหนือจาการมีแผนดินที่อุดมสมบูรณ์ น้ำฝนที่มีปริมาณเพียงพอ และปัจจัยอื่น ๆ แล้ว หากได้เมล็ดพืชพันธุ์ที่ได้รับการเลือกสรร รวมทั้งเกษตรกรมีขวัญกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพาะปลูก ทางราชการหรือผู้ปกครองตนให้การดูแลเอาใจใส่ การเกษตรของประเทศจะพัฒนามากยิ่งขึ้น

การเกษตรกรรมนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์อย่างมาก เพราะธัญญาหารที่บรรดาเหล่าเกษตรกรปลูกได้ในแต่ละปี ถูกนำมาใช้เป็นอาหาร ดัดแปลงเป็นอุปโภคต่าง ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค

ด้วยเหตุนี้ ทุกปีทางราชการจึงจัดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น โดยกำหนดในเดือนพฤษภาคม ของทุกปี

การเสี่ยงทายและคำพยากรณ์

การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย (การเสี่ยงทายผ้านุ่ง)

พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกันคือ

    • ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
    • ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
    • ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ในวันพืชมงคล

การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง

ของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้นมี ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ

ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควรธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์

ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับ ต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราช ประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาขวัญก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุฑูต และประชาชนจำนวนมากมาชมการแรกนาขวัญ

เมื่อเสร็จพิธี ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าว นำไปผสมกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกหรือเก็บไว้เป็นถุงเงินเพื่อความเป็นสิริมงคล

กิจกรรมที่ทำในวันพืชมงคล

  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
  2. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

.

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น วันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงาน วันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลตลอดมา

.

ที่มาและรูปภาพจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กรมประชาสัมพันธ์

ขอขอบคุณข้อมูล : moac.go.th , prd.go.th

———–

สามารถติดตามข้อมูล #MommyDaddyLife เพิ่มเติมได้ที่

Facebook : mommydaddylifeofficial

TikTok : mommydaddylifeofficial

Youtube : mommydaddylife-MDL

Website : www.mommydaddylife.com