Social Share

การตรวจ NIPT คืออะไร? และบอกอะไรได้บ้าง?

 

NIPT หรือ Non-Invasive Prenatal Testing คือ วิธีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยใช้การตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรม (DNA) ของรกและทารก (Cell-free fetal DNA) ในเลือดของคุณแม่ เพื่อคัดกรองการเพิ่มขึ้นหรือขาดหายไปของโครโมโซมของทารกซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าทารกอาจจะมีความผิดปกติ การตรวจ NIPT นี้มีความแม่นยำสูง ทั้งยังไม่มีความเสี่ยงจากการตรวจทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สามารถตรวจได้ตั้งแต่มีอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์เพราะเป็นช่วงที่ในกระแสเลือดของคุณแม่มี DNA ของลูกในปริมาณที่เพียงพอต่อการตรวจ

Nipt มีความแม่นยำแค่ไหน?

 

NIPT มีความแม่นยำใกล้เคียงมากกับการตรวจแบบ “ตรวจแบบวินิจฉัย” นั่นคือ การเจาะน้ำคร่ำหรือการเจาะเลือดสายสะดือ เพราะการตรวจสองแบบนี้จะได้ดีเอ็นเอของเด็กไปตรวจโดยตรง แต่การตรวจ NIPT มีข้อดีคือ ไม่เสี่ยงทำให้เกิดภาวะแท้งได้ เมื่อเทียบกับการเจาะน้ำคร่ำและการเจาะเลือดสายสะดือ เพราะใช้วิธีการเจาะเลือดที่แขนของคุณแม่เหมือนกับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพทั่วไปเท่านั้น โดยแพทย์จะทำการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดของคุณแม่ไปประมาณ 10-20 ซีซี แล้วส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการซึ่งจะใช้เวลารอผลประมาณ 5-14 วัน หลังจากนั้นคุณแม่ก็จะได้ฟังผลตรวจ NIPT กับแพทย์ค่ะ

NIPT เหมาะสำหรับ?

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกวัยที่สนใจตรวจทารกในครรภ์
  • คุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคุณแม่ในวัยอื่นๆ
  • มีผลตรวจอัลตราซาวด์แล้วพบความผิดปกติของทารก
  • มีผลการตรวจเซรั่มเป็นบวกหรือมีความเสี่ยงสูง
  • มีสภาวะเสี่ยงที่ไม่แนะนำให้ทำกาตรวจน้ำคร่ำ
  • มีประวัติการตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติของโครโมโซม

ตรวจ NIPT บอกอะไรได้บ้าง

โดยปกติมนุษย์มีสารพันธุกรรม (DNA) อยู่ในรูปของโครโมโซม ซึ่งประกอบด้วยโครโมโซมร่างกาย 22 คู่ และโครโมโซมเพศ 1 คู่ ซึ่งหากมีความผิดปกติกับโครโมโซมนี้นั่นหมายความว่าทารกจะมีความผิดปกติได้

การตรวจ NIPT สามารถตรวจโครโมโซมเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ทุกคู่ในร่างกาย ตั้งแต่คู่ที่ 1-23 จากการตรวจ NIPT นี้ไม่ใช่เพียงแค่รู้ความเสี่ยงของโรคดาวน์ซินโดรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโครโมโซม เช่น เอ็ดเวิร์ดซินโดรม พาทัวซินโดรม และหาความผิดปกติของโครโมโซมเพศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ และไคลน์เฟลเตอร์ด้วย เน้นวิเคราะห์ผลของ 3 โรคที่พบได้บ่อยเป็นหลัก

 

    • ดาวน์ซินโดรม (เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง)
    • เอดเวิร์ดซินโดรม (เกิดจากโครโมโซมคู่คู่ที่ 18 เกินมา 1 แท่ง)
    • พาทัวซินโดรม (เกิดจากโครโมโซมคู่คู่ที่ 13 เกินมา 1 แท่ง)

นอกจากนั้น การตรวจ NIPT ยังสามารถระบุเพศของทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ จากการตรวจดูโครโมโซมเพศ และมีความคลาดเคลื่อนเพียงแค่ 1% การตรวจ NIPT ไม่มีความเสี่ยง มีความปลอดภัย 100 % ต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ภายในหนึ่งสัปดาห์ (นับจากวันที่ห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่างเลือด) ก็สามารถทราบผลแล้วค่ะ

#MommyDaddylife #Maternityexpert #ตั้งครรภ์ #คนท้อง #คุณแม่มือใหม่

—————————————————————

สามารถติดตามข้อมูล #MommyDaddyLife เพิ่มเติมได้ที่ 

Website : mommydaddylife.com 

Facebook: Mommydaddylifeofficial

TikTok : Mommydaddylife

YouTube: MommyDaddyLife