Social Share

มีเลือดออกทางช่องคลอด

อาการเลือดออกทางช่องคลอดมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด การติดเชื้อในปากมดลูก การมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือมีภาวะการเจ็บครรภ์คลอด ไม่ว่าคุณแม่จะมีอายุครรภ์เท่าไหร่แต่หากมีเลือดออกทางช่องคลอดควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยเร็ว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

 

อาการปวดท้องน้อย

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์สามารถพบการปวดท้องน้อยได้เนื่องจากการขยายตัวของมดลูก แต่มักจะไม่ปวดมาก เพียงพักหรือเปลี่ยนอิริยาบถก็ควรจะทุเลาอาการ แต่หากมีอาการปวดมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุค่ะ

 

 

การดิ้นของลูกในครรภ์ผิดปกติ ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย

โดยปกติแล้วทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป อาจรู้สึกถึงแรงเตะ แรงถีบ หรือแรงขยับของแขนขา แพทย์จะให้นับจำนวนครั้งการดิ้นของทารกในครรภ์เป็นการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้ด้วยตัวเองขณะอยู่บ้าน หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงหรือในวันนั้นยังไม่ดิ้นเลย ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาดูว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติอะไรหรือไม่ เพราะอาจเกิดการเสียชีวิตในครรภ์ได้

 

มีอาการแพ้ท้องรุนแรง อาเจียนบ่อยๆ รับประทานอาหารไม่ได้

อาการแพ้ท้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสเกิดอาการแพ้ท้องได้ มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม เบื่ออาหารหรือเหม็นอาหาร ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ แต่ยังพอรับประทานอาหารได้ถือเป็นอาการที่ค่อนข้างปกติ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเกิน 14 สัปดาห์ อาการพวกนี้จะหายไปเองโดยธรรมชาติ แต่หากคลื่นไส้ อาเจียนมากจนกินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด มีอาการขาดสารอาหาร ขาดน้ำ เช่น ใจสั่น ปัสสาวะออกน้อย อาการเหล่านี้ถือว่าผิดปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล และอาจจะต้องได้รับสารทดแทนทางน้ำเกลือ หรือให้วิตามินเสริมทางน้ำเกลือค่ะ

มีไข้สูง

หากคุณแม่มีไข้สูง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้ ว่ามีการติดเชื้อหรือมีความผิดปกติที่ระบบใด และรับการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากมียาหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ขณะตั้งครรภ์อาจมีผลกับทารกในครรภ์ได้ การติดเชื้อบางชนิดอาการก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ และการติดเชื้อในบางระบบ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ เป็นต้น

 

อาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด

การเจ็บครรภ์คลอด มักจะมีอาการท้องแข็ง ซึ่งท้องแข็งเกิดจากการบีบตัวของมดลูกซึ่งเมื่อจะเข้าสู่ภาวะคลอด มดลูกหดรัดตัว จะมีการแข็งตัวของมดลูกเกิดขึ้น ท้องจะมีอาการปวด บีบ ๆ เกร็ง ๆ ปวดร้าวไปที่หลังหรือหน่วงลงช่องคลอดทวารหนัก ถ้าเอามือไปจับบริเวณมดลูก จะรู้สึกว่ามันแข็ง อาการนี้โดยทั่วไปจะเป็นอยู่ประมาณ 45-60 วินาที เปลี่ยนอิริยาบถหรือพักแล้วก็จะหายไป แต่ถ้าเข้าสู่กระบวนการคลอด อาการนี้จะกลับมาทุก ๆ 5-10 นาที หรือถี่ขึ้นเป็น 2-3 นาที มีอาการเจ็บสม่ำเสมอ มีความถี่และความแรงของการหดรัดตัวของมดลูกมากขึ้นเรื่อยๆ หากมีอาการดังกล่าวก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ หากทารกคลอดออกมา จะมีปัญหาเรื่องการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ฉะนั้น เมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น หากไม่แน่ใจว่าถี่ขึ้นหรือเปล่าหรือรู้สึกว่าผิดปกติมากขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าการบีบตัวของมดลูกสม่ำเสมอมากน้อยขนาดไหน รวมถึงมีการตรวจภายในเพื่อประเมินดูการเปิดของปากมดลูก

มีน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตก

น้ำเดินหมายถึง มีน้ำคร่ำไหลออกจากช่องคลอด คือมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ จะมีน้ำใสๆไหลออกจากช่องคลอด คล้ายปัสสาวะราดแต่กลั้นไม่ได้ โดยมักจะออกมาเรื่อยๆ โดยปริมาณอาจไม่แน่นอน อาการของน้ำเดินถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการคลอด ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์และเตรียมคลอดค่ะ

 

ตัวบวม น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว จุกแน่นลิ้นปี ตาพร่ามัว ปวดศีรษะมาก

มีอาการบวมโดยเฉพาะบริเวณมือ เท้า หน้า น้ำหนักขึ้นเร็วผิดปกติ ปวดศีรษะมาก ทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ตาพร่ามัว ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา อาการดังกล่าวเป็นอาการของภาวะ ครรภ์เป็นพิษ (Pre-ecclampsia) ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมากต่อทั้งแม่และเด็ก โดยหากมีอาการดังกล่าวหรือสงสัยให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที

อาการดังกล่าวถือเป็นภาวะอันตราย ดังนั้นหากมีอาการต่างๆดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์และรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์นะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Fill out this field
Fill out this field
Please enter a valid email address.
You need to agree with the terms to proceed