Social Share

 

โดยปกติแล้วการเจาะน้ำคร่ำ ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จำเป็นต้องตรวจ แต่ในกลุ่มคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะผิดปกติ ซึ่งจากการตรวจอื่นยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน ดังนั้นแพทย์จึงมีความเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการเจาะตรวจน้ำคร่ำ

การเจาะน้ำคร่ำนี้สามารถตรวจหาปัญหาในการตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ที่เคยมีปัญหาการตั้งครรภ์มาก่อน อาจต้องเจาะเพื่อดูความแข็งแรงของครรภ์ และความเสี่ยงอื่น ๆ และยังช่วยให้แพทย์สามารถระบุความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ได้แก่ โรคที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการพาทัวซินโดรม เทอเนอร์ซินโดรม โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้วางแผนครอบครัว และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

การเตรียมตัวก่อนเจาะน้ำคร่ำ

  • อายุครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับตรวจน้ำคร่ำ คือ ประมาณ 16 – 20 สัปดาห์ (4 เดือนเศษ) ถ้าอายุครรภ์น้อยกว่านี้การเพาะเลี้ยงเซลล์มักจะล้มเหลว
    • อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพื่อลดโอกาสที่ถุงน้ำคร่ำอาจรั่ว
    • อายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ แพทย์อาจแนะนำให้เลี่ยงการปัสสาวะในช่วงก่อนเจาะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะช่วยรองรับถุงน้ำคร่ำไว้ และช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น
  • ไม่อยู่ในกลุ่มที่อาจเกิดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ได้แก่ คุณแม่ที่มีการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง และคุณแม่ที่มีความผิดปกติของระดับน้ำคร่ำและมดลูก

ขั้นตอนการเจาะน้ำคร่ำ

  1. ทำหัตถารโดยสูติแพทย์ที่ชำนาญ และภายใต้สภาพปลอดเชื้อ
  2. แพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ ดูท่าของทารกตำแหน่งที่รกเกาะ และเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเจาะที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารก
  3. แพทย์จะทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณหน้าท้อง และใช้เข็มแทงผ่านผนังหน้าท้องและผนังมดลูกจนถึงแอ่งน้ำคร่ำที่เลือกไว้ ซึ่งขณะเจาะแม่จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับเวลาเจาะเลือด
  4. แพทย์จะดูดน้ำคร่ำออกมาประมาณ 4 ช้อนชา (20 ซีซี) คิดเป็นเพียง 5 % ของปริมาณน้ำคร่ำที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด
  5. น้ำคร่ำที่ดูดออกมา จะส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อเพาะเลี้ยงเซลล์ จากนั้นจะนำมาศึกษารูปร่างและจำนวนของโครโมโซมโดยจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 สัปดาห์ในการแปลผล ผลที่ได้มีความแม่นยำสูงถึง 99 %

ข้อปฏิบัติภายหลังการเจาะตรวจน้ำคร่ำแล้ว

    1. หลังเจาะน้ำคร่ำ ควรนั่งพัก 30 – 60 นาที ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
    2. ห้ามอาบน้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเจาะน้ำคร่ำ
    3. ถ้าปวดแผลบริเวณที่เจาะน้ำคร่ำสามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลได้ แต่ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟนหรือแอสไพริน เพราะอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
    4. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆหรือเดินทางไกล 2 -3 วัน
    5. งดมีเพศสัมพันธ์ 1 สัปดาห์
    6. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดินมีไข้ หรือปวดท้องมาก ให้รับมาพบแพทย์โดยทันที

 

ความเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำ

แม้การเจาะน้ำคร่ำจะปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ แต่อาจพบความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ อันได้แก่

การติดเชื้อ  ซึ่งอาจเกิดจากการเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง หรือเชื้อจากอุปกรณ์ แต่พบได้น้อยมากเนื่องจากแพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เจาะและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ให้สะอาดก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง

ภาวะแท้ง เป็นความเสี่ยงที่เกิดได้น้อยมาก โดยมีโอกาสในการเกิดเพียง 1 ใน 200 ถึง 1 ใน 400 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำอาจมาจากการติดเชื้อ ถุงน้ำคร่ำแตก หรือการคลอดก่อนกำหนด

ไม่สามารถระบุผลการตรวจได้ชัดเจน แม้การตรวจด้วยวิธีเจาะน้ำคร่ำจะสามารถระบุความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างได้ แต่ไม่สามารถระบุได้ 100% ว่าเด็กจะมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่

เกิดรอยรั่วที่รก ในการเจาะน้ำคร่ำอาจทำให้เกิดรอยรั่วที่รกได้ แต่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายตามมา ในปัจจุบันนี้พบได้น้อยมาก เนื่องจากทำหัตถารร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ทำให้แพทย์สามารถเจาะได้แม่นยำมากขึ้น

โรคจากหมู่เลือดอาร์เอช (Rhesus Disease) ในคุณแม่ที่มีกรุ๊ปเลือดพิเศษ Rh- แต่ทารกมีกรุ๊ปเลือด Rh+ หากเลือดของทารกเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่จากการเจาะน้ำคร่ำ อาจทำให้ร่างกายของคุณแม่มีการสร้างแอนติบอดีเพื่อทำลายทารกได้ หากไม่รักษาอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติและเป็นอันตรายได้

โรคเท้าปุก เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเจาะน้ำคร่ำในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 15 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เด็กเสี่ยงมีความผิดปกติที่เท้าและกลายเป็นลักษณะผิดปกติแต่กำเนิดได้ ดังนั้นแพทย์จะไม่แนะนำให้เจาะน้ำคร่ำในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของทารก

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Fill out this field
Fill out this field
Please enter a valid email address.
You need to agree with the terms to proceed