Social Share

วันวิสาขบูชา กับเหตุการณ์สำคัญใน “พระพุทธศาสนา”

วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่มีมาแต่โบราณกาล เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน” ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  มีประวัติความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร MommyDaddyLife มีข้อมูลมาฝากค่ะ

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนหก หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์

ที่เราเรียกว่าวันวิสาขบูชานั้น เพราะเป็นวันตรงกับวันเพ็ญ (วันกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง) เดือนวิสาขบูชาซึ่งตรงกับเดือน ๖ ของไทย วันกลางเดือน ๖ เป็นวันที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันเพ็ญ (วันกลางเดือน) เดือน ๗ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ในห้วงระยะเวลาที่ต่างกัน

เหตุการณ์สำคัญ “วันวิสาขบูชา”

เหตุการณ์วันประสูติ “เจ้าชายสิทธัตถะ”

เหตุการณ์สำคัญครั้งแรก เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ โอรสพระเจ้าสุทโธธนะ และ พระนาง สิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ของฝ่ายพระราชบิดา กับกรุงเทวทหะของฝ่ายพระราชมารดา

เหตุการณ์ตรัสรู้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายหลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็น ตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

เหตุการณ์เสด็จ “ดับขันธปรินิพพาน”

เหตุการณ์สำคัญ ครั้งที่ 3 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ภายหลังจากการตรัสรู้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

.

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการนี้ เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน ทางจันทรคติ ซึ่งนับวันขึ้นแรม ตามวิถีการโคจรของดวงจันทร์ เป็นหลักในการกำหนดวัน เดือนและปีซึ่งยังคงใช้กันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ควบคู่กันไปกับการกำหนดวัน เดือน และปีทาง สุริยคติ ซึ่งเป็นไปตามวิถีการโคจรของดวงอาทิตย์ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ซึ่งยังไม่เคยมีการประจวบกันเช่นนี้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดมาก่อนจนตราบเท่าปัจจุบัน

“วันวิสาขบูชา” ในประเทศไทย

กระทรวงวัฒนธรรม อธิบายว่า จากหลักฐานพบว่า “วันวิสาขบูชา” เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ “สมัยสุโขทัย” เป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจาก “ลังกา” เมื่อประมาณ พ.ศ.420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นับจากนั้นกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา

เมื่อครั้งสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด มีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในไทยด้วย

 

การปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัย มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ “นางนพมาศ” สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย

ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์

หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา

สำหรับหลักธรรม สำคัญในวันวิสาขบูชา อันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท (ที่มา : กรมศิลปากร)

ความกตัญญู คือ รู้บุญคุณ คู่กับความกตเวที คือ ตอบอทนผู้มีพระคุณ

อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีขึ้นได้แก่ทุกคนมี 4 ประการ คือ

  • ทุกข์ (ปัญหาของชีวิต)
  • สมุทัย (เหตุแห่งปัญหา)
  • นิโรธ (การแก้ปัญหาได้)
  • มรรค (ทางหรือวิธีแก้ปัญหา มรรคมีองค์

ส่วนความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือการระลึกรู้ทันที่คิด พูดและทำ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่าง ๆ

กิจกรรมในวันวิสาขบูชา

 ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอัน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนตร์ตามลำดับดังนี้คือ

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ ด้วยบท ” อิติปิโสภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ…พุทโธภควาติ ”
บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ ด้วยบท ” สวากขาโต ภควตาธัมโม…วิญญูหิติ ”
บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ ด้วยบท ” สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ…โลกัสสาติ ”

 

จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวา ๓ รอบ

รอบแรก จะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ

รอบที่สอง จะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ

และรอบที่สาม สวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ

เมื่อครบ ๓ รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียนจากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาใน พระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ

  • ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
  • ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
  • ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
.