Social Share

ไขข้อข้องใจอาหารเจกับคุณแม่ตั้งครรภ์ กินได้หรือไม่?

ใกล้ช่วงเทศกาลกินเจของทุกปีแล้วนะคะ คุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆ ท่านอาจจะกังวลเรื่องสารอาหารไม่เพียงพอหากต้องรับประทานเจ แล้วคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถกินเจได้หรือไม่? มีผลอะไรกับทารกในครรภ์หรือเปล่า? MommyDaddyLife จะมาตอบข้อสงสัยให้คุณแม่ค่ะ

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกินเจได้หรือไม่?

ตามความเป็นจริงการรับประทานเจ อาจจะไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์มากนัก เพราะทารกในครรภ์มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และหลากหลายในปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อที่ร่างกายทารกจะสามารถสร้างเซลล์และอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเซลล์ระบบประสาทและสมองที่จะเกี่ยวเนื่องไปถึงความฉลาดและพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคต

หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความต้องการและตั้งใจที่จะกินเจ ก็สามารถกินเจได้ค่ะ แต่คุณแม่ต้องกินอย่างระมัดระวัง และพยายามเลือกทานให้ดี เนื่องจากกินเจต้องงดอาหารหลายประเภท ที่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องปลอดภัยสำหรับคุณแม่และลูกในครรภ์ค่ะ

ช่วงไตรมาสแรก (อายุครรภ์ก่อน 14 สัปดาห์ )

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงไตรมาสแรก เป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะ การกินอาหารเจไม่ได้มีรายงานว่าทำให้เกิดความผิดปกติของทารก หากคุณแม่ยังได้รับสารอาหารรวมถึงวิตามินและ folic acid อย่างเพียงพอ แต่ในช่วงนี้คุณแม่จะกินได้น้อย หลายๆ คน มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ เวียนศรีษะ จึงไม่ควรรับประทานทานอาหารเจที่มีไขมัน อาหารเจที่เป็นของทอดหรือของมัน จะยิ่งกระตุ้นให้อาการแพ้ท้องให้แย่ลง และทำให้ร่างกายไม่อยากอาหาร
.
รวมถึงการกินผักและผลไม้บางชนิดที่ก่อให้เกิดแก๊ส เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ ถั่ว จะกระตุ้นให้คุณแม่ที่ท้องอืดได้ง่ายอยู่เดิมมีอาการท้องอืดได้ง่ายขึ้นและจะยิ่งทำให้อาหารแพ้ท้องเป็นมากขึ้น
อาหารเจ

ช่วงไตรมาสที่สองและสาม (หลัง 14 สัปดาห์เป็นต้นไป)

คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 นี้ จะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโต และในภาวะที่ทารกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอทารกจะนำโปรตีนจากคุณแม่ไปใช้ก่อนสารอาหารประเภทอื่นๆ โดยปกติในสตรีตั้งครรภ์จะมีความต้องการโปรตีนที่มากกว่าคนทั่วไป หากคุณแม่ต้องการกินเจจะแนะนำให้กินอาหารจำพวกโปรตีนจากพืชทดแทนให้ได้ตามปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวันเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาทารกโตช้าหรือมีน้ำหนักตัวน้อยในครรภ์
.
และนอกจากนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์) สตรีตั้งครรภ์จะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินได้มากขึ้น ทำให้เกิดการเผาผลาญอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลผิดปกติได้ง่ายและนำไปสู่การเกิดภาวะเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคุณแม่ที่เสี่ยงต่อภาวะเบาหวาน หรือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือน้ำหนักตัวขึ้นเกินเกณฑ์ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรงดอาหารประเภทดังกล่าวข้างต้น
อาหารเจ
โดยสรุปอาหารเจที่ควรหลีกเลี่ยงในสตรีตั้งครรภ์ คือ อาหารจำพวกของทอดของมันและอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารและวิตามินให้ครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

—–

ขอขอบคุณข้อมูล : phyathai3hospital.com , theasianparent.com

—————————————————————

สามารถติดตาม Mommydaddylife ในช่องทาง Facebook 

 https://www.facebook.com/Mommydaddylifeofficial