อาหารคนท้องที่ควรหลีกเลี่ยง
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์สิ่งที่ต้องได้รับการใส่ใจเป็นอย่างแรก ๆ คืออาหารการกินของคุณแม่ หลายคนคงได้รับคำแนะนำจากคนรอบตัวให้รับประทานอาหารบำรุงครรภ์ต่าง ๆ เพื่อบำรุงทารกในครรภ์ไปด้วย แต่นอกเหนือจากอาหารบำรุงแล้วคุณแม่ต้องระมัดระวังอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์ และบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วยนะคะ
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ในขณะตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของคุณได้อย่างรวดเร็ว ลูกน้อยในครรภ์ก็จะได้รับแอลกอฮอล์โดยผ่านทางกระแสเลือดของคุณแม่ด้วย แอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอารมณ์หดหู่ และทำให้ระบบประสาททำงานช้าลง ถ้าคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ ลูกที่เกิดมาอาจมีภาวะของ Fetal Alcohol Syndrome (FAS) หรือกลุ่มอาการผิดปกติของทารกจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการของทารก ทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เติบโตช้า และอาจส่งผลเสียถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของลักษณะใบหน้าได้อีกด้วย ดังนั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงถือเป็นของต้องห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรละเว้นแอลกอฮอล์ตลอดช่วงการตั้งครรภ์จึงจะปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มชูกำลัง
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนได้ในปริมาณที่เหมาะสม หรือเทียบเท่ากับกาแฟไม่เกิน 2-3 แก้วต่อวัน การได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแท้ง หรือทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยงนะคะ เครื่องดื่มชูกำลังเองก็เป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงมาก อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติในคนตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มนะคะ
ทานตับในปริมาณน้อยๆ
ตับอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แต่ก็มีวิตามินเอสูงด้วยเช่นกัน การได้รับวิตามินเอมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อทารก เช่น ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิดที่รุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินเอไม่เกิน 700 ไมโครกรัมต่อวัน ดังนั้นควรกินตับในปริมาณน้อยๆ ไม่เกิน 50 กรัมต่อสัปดาห์นะคะ
อาหารกึ่งสำเร็จรูป
คนท้องควรงดกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากมีส่วนผสมของผงชูรส สารกันบูดสูง และยังมีโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวัน ลองคิดดูสิคะว่า หากกินเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากขนาดไหน
อาหารแช่เย็น
อาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น เช่น สลัด อาจปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย อาหารประเภทนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
ไข่ดิบ
คนท้องไม่ควรกินไข่ดิบเป็นอย่างยิ่ง เพราะไข่ดิบ และผลิตภัณฑ์ที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบอาจปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลาอาจนำไปสู่การติดเชื้อซาลโมเนลลา เชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือเป็นไข้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ดังนั้น คนท้องจึงควรเลือกกินแต่ไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น และไม่ควรกินมากเกินวันละ 1 ฟอง
เนื้อสัตว์ดิบ และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
คนท้องควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบทุกชนิดและอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบต่าง ๆ เช่น ปลาดิบ ซูชิ หอยนางรมสด หรือเนื้อสัตว์สุกไม่ทั่ว เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจมีเชื้อโรคหรือพยาธิแฝงอยู่ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อลิสทีเรีย และเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งอาจทำให้มีภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือการคลอดก่อนกำหนดได้ การติดเชื้อลิสทีเรียนั้นสามารถส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้ และเป็นอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
ปลาที่มีสารปรอท
ปลาบางชนิดมีการปนเปื้อนสารปรอทในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการกินปลาทูน่ากระป๋อง ปลาอินทรีย์ หรือไม่ควรทานมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ เพราะปลาเหล่านี้อาจมีสารปรอทตกค้างอยู่ในปริมาณสูง และเลือกรับประทานปลาทีมีเนื้อมากกว่าไขมันแทน อย่างเช่น ปลาแซลมอน ปลาเนื้อขาว เป็นต้น
ผลไม้ที่บางชนิด
แน่นอนว่าผลไม้ทุกชนิดมีประโยชน์ แต่สำหรับคนท้องแล้ว สามารถที่จะรับประทานได้เพียงแค่บางชนิดเท่านั้น ซึ่งผลไม้ที่คนท้องไม่ควรรับประทานมีดังนี้
- ผลไม้ที่อาจจะสร้างแก๊สในกระเพาะอาหารให้เพิ่มขึ้นเช่น สับปะรดและอะโวคาโด ที่มีกรดกำมะถันในผลสูง จะทำให้ท้องอืด และอาจทำให้เกิดอาการอาเจียนร่วมด้วย เนื่องมาจากกรดไหลย้อนและจุกเสียด
- ผลไม้ที่มีแป้งและคาร์โบไฮเดรตสูงมากจนเกินไปเช่น มะม่วงดิบ แห้ว หรือมันแกว จะทำให้ระบบการดูดซึมอาหารช้าลง จนส่งผลให้กลายเป็นท้องอืด และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของความอ้วนหรือน้ำหนักที่ลงยากหลังคลอดบุตร
- ผลไม้รสหวานจัดมีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก องุ่นม่วง ลำไย และขนุน ทำให้น้ำตาลเพิ่มสูง อาจเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และทำให้มีน้ำหนักตัวหลังคลอดมาก และบุตรที่คลอดออกมาตัวเล็กอีกด้วย
อาหารตากแห้งและอาหารหมักดอง
ควรหลีกเลี่ยงอาหาร เช่น ปลาเค็ม กุนเชียง เพราะอาหารเหล่านี้มีส่วนผสมของสารไนเตรตสูง ซึ่งทำให้ออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ดีเท่าที่ควร
อาหารเผ็ดจัดมากเกินไป
การทานอาหารเผ็ดมากเกินไปร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมักมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้ง่าย เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่าย อาหารเผ็ดมากๆ อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ กระเพาะอาหารอักเสบได้ง่าย ท้องเสียได้ง่าย ซึ่งส่งผลให้การดูดซึมอาหารไม่ดี และทำให้ทารกในครรภ์ขาดสารอาหาร และส่งผลลบต่อพัฒนาการของลูกได้ค่ะ
นอกจากควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ที่บอกไปข้างต้นแล้ว คุณแม่ต้องใส่ใจในการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตัวเองและลุกน้อยในครรภ์ด้วยนะคะ ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุกร้อนเสมอ และทานให้เพียงพอกับพลังงานที่ร่างกายต้องการ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลุกน้อยในครรภ์นะคะ