มาทำความรู้จักกับดาวน์ซินโดรม ว่าคืออะไร?
คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงรู้จักกับกลุ่มอาการของดาวน์ซินโดรมกันมาบ้างแล้ว เมื่อลูกน้อยเกิดมาพร้อมความผิดปกติในกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ถึงแม้ว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถอยู่กับลูกอย่างมีความสุขด้วยความรักและความเข้าใจได้ค่ะ
MommyDaddyLife เลยมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มโรคดาวน์ซินโดรมว่าคืออะไร และต้องดูแลอย่างไร เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับกลุ่มโรคนี้มากขึ้นค่ะ
ดาวน์ซินโดรมคืออะไร
กลุ่มอาการดาวน์ หรือ ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) หรือ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมที่เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ปกติคนเราจะมีโครโมโซม 23 คู่ หรือ 46 แท่ง แต่ในกลุ่มอาการดาวน์จะมีโครโมโซมทั้งหมด 47 แท่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะ และมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา โดยมีความหนักเบาตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงมาก และอาจมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทำให้เด็กกลุ่มโรคนี้ต้องได้รับการดูแลปัญหาสุขภาพมากกว่าปกติ
ในทางการแพทย์พบว่าปัจจัยเสี่ยง คือ การตั้งครรภ์ในหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดความผิดปกติแบบกลุ่มอาการดาวน์สูง ยิ่งหญิงตั้งครรภ์มีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
ลักษณะทางร่างกายของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม
เด็กกลุ่มอาการดาวน์ มีลักษณะทางร่างกายภายนอกที่จำเพาะ เช่น
- ตาห่าง ตาขนาดเล็ก หางตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ปากเล็ก (ทำให้ดูเหมือนลิ้นโตคับปาก) และมักแลบลิ้นออกมา เนื่องจากกล้ามเนื้อในช่องปากไม่แข็งแรง
- หูเล็ก คอสั้น ศีรษะเล็ก กะโหลกศีรษะด้านหลังแบน
- มีลายมือพาดขวางตลอดความกว้างของมือ (Simian Crease) กระดูกข้อกลางของนิ้วก้อยสั้นหรือหายไป ส่วนนิ้วเท้าจะพบว่าช่องว่างระหว่างนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วที่สองจะห่างมากกว่าปกติ (Wide Gap)
- เด็กจะตัวอ่อนนิ่ม เพราะพัฒนาการของกล้ามเนื้อไม่ดี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ตัวจะเตี้ยกว่าคนในเชื้อชาติเดียวกัน และส่วนมากจะดูอ้วน
พัฒนาการของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม
เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีพัฒนาการของสมองช้า ระดับสติปัญญาจะอยู่ในขั้นปัญญาอ่อนเล็กน้อยถึงปานกลาง คือ มีระดับสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50 ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีไอคิวสูงกว่า 70 ทำให้เด็กมีปัญหาในการใช้ภาษาและการพูด มักพูดช้าและพูดไม่ชัด
สำหรับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ โดยทั่วไปเด็กกลุ่มนี้มักจะเป็นคนสุภาพ อดทน ยอมคน ไม่แข็งกร้าว ร่าเริง ยิ้มง่าย อบอุ่น ใจดี ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ดี
ภาวะแทรกซ้อน และปัญหาที่พบร่วมอื่นๆ
นอกจากลักษณะภายนอกร่างกายแล้ว เด็กกลุ่มนี้อาจมีภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษร่วมด้วย เช่น
- หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจรั่ว ลำไส้อุดตัน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ทำให้ระดับสติปัญญาด้อยลงและอ้วน) มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นกว่าเด็กปกติ
- มีภาวะสติปัญญาล่าช้า บางคนมีอาการชัก สมาธิสั้น ออทิสติก หรือมีปัญหาทางด้านพฤติกรรม และอาจเป็นอัลไซเมอร์เมื่อมีอายุมากขึ้น
- มีโรคจิตประสาทร่วมด้วย เด็กกลุ่มนี้มักเป็นโรคสมาธิสั้น ในวัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ
- มีปัญหาสายตาและการได้ยิน ส่วนใหญ่พบสายตาสั้น สายตาเอียง พบหูหนวกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- เพศชายส่วนใหญ่เป็นหมันเพราะผลิตสเปิร์มไม่ได้ ส่วนเพศหญิงประมาณร้อยละ 15-30 มีการตกไข่ปกติ แม้รอบเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ สามารถมีบุตรได้ ประมาณร้อยละ 18-38
การดูแลรักษาเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม
เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีพัฒนาการเป็นลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกับเด็กทั่ว ๆ ไป แต่อาจมีความล่าช้ากว่าเด็กปกติ คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเด็กและช่วยเหลือเด็กในด้านต่างๆ ร่วมกับการส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กกลุ่มอาการดาวน์มีศักยภาพสูงสุด เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เด็กบางคนสามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ และสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดู อาจต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล ที่ลูกเกิดมาพร้อมกับกลุ่มอาการดาวน์ การยอมรับความจริงและการมีความเข้าใจในกลุ่มอาการดาวน์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูไม่ควรคาดหวังในตัวเด็กมากจนเกินไป และควรให้ความรักและกำลังใจซึ่งกันและกันในการเลี้ยงดูลูกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ แม้ว่าจะเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในหลายๆ ด้าน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมมองด้านดี ๆ ของเขา เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์ดี ร่าเริง และเลี้ยงง่ายกว่าเด็กทั่วไป
.
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ การดูแลเด็กกลุ่มนี้จึงมุ่งเน้นในเรื่องของการรักษาความผิดปกติทางร่างกาย ควบคู่ไปกับการฝึกฝนและส่งเสริมทักษะและพัฒนาการในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถปรับตัวอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
.
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ โปรแกรมตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมและโครโมโซมของทารกในครรภ์ ได้ที่นี่
—
ขอขอบคุณข้อมูล : phyathai.com , princsuvarnabhumi.com , bangkokhospital.com , rebrain-physio.com
—————————————————————
สามารถติดตาม Mommydaddylife ในช่องทาง Facebook