รู้ไหม! ลอยกระทง ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยนะ
“วันลอยกระทง” ในประเทศไทยจะมีขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย แต่รู้ไหมว่า “ลอยกระทง” ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น! เป็นประเพณีที่หลายประเทศมีวัฒนธรรมร่วมกัน จะมีประเทศไหนบ้าง? Mommydaddylife มีข้อมูลมาฝากค่ะ จะเหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน ไปดูกันค่ะ
วันลอยกระทง เป็นเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ไทตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคาซึ่งเป็นเทวดาในคติฮินดู แต่เทศกาลนี้มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีนและอินเดียโบราณ
ในประเทศไทยมีชื่อเรียกว่า “ลอยกระทง” ส่วนประเทศอื่น ๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน อย่างเช่น ประเทศพม่ามีชื่อว่า “เทศกาลตาซองได“, ประเทศศรีลังกามีชื่อว่า “Il Full Moon Poya” และประเทศจีนมีชื่อว่า “เทศกาลโคมไฟ
ลอยกระทงของต่างประเทศ มีที่ไหนบ้าง?
วันลอยกระทง ไม่ได้มีแค่ชาวไทยเท่านั้น แต่อีกยังมีอีกหลากหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมนี้ร่วมกัน บางหลักฐานเชื่อว่าถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บ้างก็เชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที หรือเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์ ทำให้แต่ละประเทศมีการจัดงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในแต่ละประเทศก็มีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่จึงมีพิธีกรรมที่ไม่เหมือนใคร อย่างไรก็ตามแม้วัตถุประสงค์การจัดงานจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “การลอยกระทง” มาดูกันว่าแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร
หลายประเทศที่มีการลอยกระทงโดยส่วนใหญ่วัตถุประสงค์ในการสืบสานประเพณี คือ ต้องการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่าประเพณีนี้ เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานหานทีอีกด้วย ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงมีชื่อเรียกและการจัดงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนี้
ประเทศอินเดีย
โดยที่อินเดียเรียกประเพณีลอยกระทงว่าเทศกาล “ทีปาวลี” หรือ “ดิวาลี” หรือ “เทศการแห่งแสง” นิยมจัดขึ้นตามปฏิทินฮินดูในคืนวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประเพณีการจุดประทีปในช่วงปลายฝนต้นฤดูหนาว คือช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนตามปฎิทินสากล โดยเรียกเทศกาลนี้ไม่ได้จุดประทีปเพื่อเซ่นสังเวย อุทิศส่วนกุศล ตามความเชื่อผีฟ้า ผีบรรพบุรุษหรือตามความเชื่อทางพุทธศาสนาแต่อย่างใด แต่เพื่อเฉลิมฉลองการนิวัติกลับนครอโยธยาของพระรามและนางสีดา
บรรยากาศของประเทศอินเดียในวันลอยกระทงจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ โดยทำกระทงนิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ใบบัว หรือวัสดุอื่น ๆ อะไรก็ได้ ที่สามารถให้ออกมาลักษณะเป็นรูปชาม และใส่น้ำมันลงไปภายในได้ นอกจากนี้ยังนิยมวางเชือกฝ้ายไว้ในน้ำมัน และเพิ่มสีสันด้วยการประดับกลีบดอกไม้
ประเทศศรีลังกา
เทศกาลโพยา หรือ Il Full Moon Poya เป็นประเพณีลอยกระทงของชาวศรีลังกา มีความคล้ายคลึงกับไทยมากที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยจะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งชาวศรีลังกาจะมีการลอยกระทงเพื่อบูชาและขอขมาพระแม่คงคา นอกจากนี้ยังนิยมทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา และเวียนเทียนอีกด้วย
ประเทศจีน
ชาวจีนเรียกการลอยกระทงว่า “ลอยโคมประทีบ” หรือ “ฟั่งเหอเติง” (ภาษาจีน) ซึ่งหากเรียงลำดับตามความเก่าแก่แล้ว อาจพูดได้ว่าจีนเป็นประเทศแรกที่มีการลอยกระทง โดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีน และจะลอยตัวกระทงที่มีลักษณะเป็นดอกบัวลอยไปตามน้ำ มีความเชื่อหลักอยู่ 2 ส่วน คือลอยเพื่อบูชาเทพเจ้าตี้กวน หรือการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ
ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่าฮั่น มองโกล ไป๋ และเหมียว การลอยกระทง ของที่นี่มีความหมายว่า การไว้อาลัยผู้เสียชีวิต เริ่มมีขึ้นในมณฑลจี๋หลิน เนื่องจากมณฑลนี้มีแม่น้ำซงฮวาไหลผ่าน ถือเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำตั้งแต่โบราณกาล ในสมัยราชวงศ์หมิง และชิง เรือที่ผลิตในมณฑลจี๋หลินแล่นไปทางตอนใต้เพื่อลาดตระเวนเขตชายแดน และขนส่งธัญญาหารให้ทหารประจำเขตชายแดน การตัดไม้ ต่อเรือ และเดินเรือล้วนเป็นงานหนักและเสี่ยงภัย ผู้คนที่ประกอบงานด้านนี้มักได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตมากมายนับไม่ถ้วน แม่น้ำสายนี้จึงเปรียบเป็นสมุดบันทึกความโศกเศร้า ความสุข การเกิด การตาย และชะตากรรมของชาวจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ชาวจี๋หลินก็จะพากันลอยกระทงตามแม่น้ำซงฮวาเพื่อเป็นการรำลึกถึง
ทั้งนี้ การลอยกระทงในประเทศจีน ไม่ได้จำกัดว่าต้องลอยในเทศกาลใด คือในเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญจะนิยมมีประเพณีลอยกระทง และในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความหมายในการลอยกระทงที่แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น การลอยกระทงในเขตเจียงหนาน กระทงที่ลอยไปตามน้ำหมายความว่าให้โรคภัยไข้เจ็บหายลอยไปกับน้ำ ส่วนในเขตติดชายฝั่งทะเล การลอยกระทงหมายความว่าขอพรให้เทพเจ้าแห่งทะเลช่วยปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสันติสุข
ประเทศพม่า
จุดเริ่มต้นของประเพณี “จุดไฟตามประทีป” หรือ ‘ตะซาวง์ได-มีทูน-ปฺแว’ เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวันเพ็ญเดือนแปดตามปฏิทินพม่า (ซึ่งก็เป็นช่วงเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน) ในประเทศเมียนมา เริ่มต้นจากความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งจะแตกต่างกับที่ไทยตรงที่ส่วนมากจะไม่ได้จุดเพื่อลอยน้ำ แต่จะจุดไฟตามเจดีย์เพื่อบูชาพระพุทธศาสนา โดยตามความเชื่อของคนเมียนมา ในสมัยพระเจ้าอโศก ท่านได้มีดำริอยากฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมาร จึงมีดำรัสให้เสนาอำมาตย์จุดไฟตามประทีประหว่างที่เสด็จฟังเทศน์ เป็นที่มาของเทศกาลดังกล่าว
หรืออีกตำนานเป็นการลอยเพื่อบูชาพระอุปคุตที่อยู่กลางสะดือทะเลประเทศเมียนมาร์ มีตำนานว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงสร้างพระเจดีย์ให้ครบ 84,000 แต่ถูกพญามารขัดขวางคุกคามทำลายพระเจดีย์เหล่านั้น พระเจ้าธรรมาโศกราชจึงทรงขอร้องพระอุปคุต พระอุปคุตจึงไปขอร้องพญานาคให้ช่วยจับพญามารด้วย พระอุปคุตจึงจัดการปราบปราบพญามารจนสำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 ราษฎร จึงทำพิธีลอยกระทงเพื่อขอบคุณพญานาคสืบมาทุก ๆ ปี
ประเทศกัมพูชา
การจัด เทศกาลน้ำ เรียกเทศกาลลอยกระทงว่า “บ็อณแฎตปรอตีป” (Bong Dzat Proti) ที่มีความหมายว่า ลอยประทีป เป็นเทศกาลที่คล้ายกับลอยกระทงในประเทศไทย จัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน
โดยชาวกัมพูชามักร่วมกันทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ไม้ไผ่ ดอกไม้ ธูปเทียน และของตกแต่งต่าง ๆ คล้ายของไทย จากนั้นนำไปลอยในแม่น้ำหรือทะเลสาบ เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำโขง และทะเลสาบโตนเลสาบ ชาวกัมพูชาจะร่วมกันลอยทุ่นที่ประดับด้วยดวงไฟ ไปตามแม่น้ำโขง
ประเทศลาว
เรียกว่า เทศกาลไหลเฮือไฟ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงวันออกพรรษาหรือราว ๆ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน มีการจัดแข่งเรือที่ริมแม่น้ำโขง บูชาแม่นํ้าด้วยการลอยประทีป และไหลเรือไฟ ชาวหลวงพระบางมีความเชื่อว่าเป็นการบูชาคุณแห่งแม่นํ้าโขงที่เลี้ยงดูมา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ถือว่ามีความเชื่อที่คล้าย ๆ กันกับประเทศไทย
สำหรับเรือไฟ ที่ใช้ในการขอขมาพระมีคงคาและบูชาพระธาตุจุฬามณีตามความเชื่อ นิยมทำมาจากไม้ไผ่และกระดาษ พร้อมตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และโคมไฟหลากสี อีกทั้งเรือไฟบางลำอาจมีขนาดใหญ่ โดยมีความยาวถึง 10 เมตรเลยทีเดียว
.
ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างประเทศที่มีประเพณีลอยกระทง ที่ Mommydaddylife นำมาฝากค่ะ ซึ่งมีกิจกรรม และรูปแบบต่าง ๆ คล้ายของไทย เพียงแต่บางประเทศอาจมีรายละเอียด ชื่อเรียก และเอกลักษณ์ที่เป็นของแต่ละประเทศ สำหรับใครที่ออกไปเที่ยวในวันงานลอยกระทงขอให้มีความสึุข เที่ยวอย่างปลอดภัยนะคะ..สุขสันต์วันลอยกระทง..
.
ขอขอบคุณข้อมูล : th.wikipedia.org , pptvhd36.com , komchadluek.net , promotions.co.th
———–
สามารถติดตามข้อมูล #MommyDaddyLife เพิ่มเติมได้ที่
Website : mommydaddylife.com
Facebook: Mommydaddylifeofficial
TikTok : Mommydaddylife
YouTube: MommyDaddyLife