Social Share

อาหารที่คุณแม่ให้นมลูกน้อย ห้ามกิน!

คุณแม่หลังคลอดที่ต้องให้น้ำนมลูกน้อย ทั้งคุณแม่และลูกน้อยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินให้มากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้มีสารที่ปนเปื้อนไปยังน้ำนม ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อย เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และลูกน้อย วันนี้ MommyDaddyLife มีข้อมูลของอาหารที่คุณแม่ให้นมลูกน้อยห้ามกิน มาฝากกันค่ะ

อาหารที่คุณแม่ให้นมลูกน้อยควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารทะเล

อาหารทะเลจำพวกปลา กุ้ง หอย ปู หมึก บางประเภทนั้นเพื่อรักษาความสดใหม่จึงมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่สูงมาก ดังนั้น การทานอาหารทะเลในช่วงให้นมลูกน้อยคุณแม่จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารทะเลให้มากที่สุด เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของลูกน้อย โดยจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ลูกจะมีพัฒนาการช้าหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ส่วนอาหารทะเลที่คุณแม่พอทานได้  ได้แก่ ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ซึ่งอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของลูกน้อยทดแทนจะดีกว่าค่ะ

  • อาหารปรุงไม่สุกและอาหารค้างคืน

อาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุง หรืออาหารค้างคืน เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ในช่วงให้นมลูก คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ซูชิ แหนม ปลาร้า ก้อย ลาบเลือด กุ้งแช่น้ำปลา รวมไปถึงอาหารค้างคืนที่นำมาอุ่นกินทีหลังหรืออาหารที่ผ่านการต้มหรือตุ๋นเป็นเวลานาน ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ เชื้อจุลินทรีย์ ที่จะนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้ ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ สะอาด และผ่านความร้อนจนสุกดีเท่านั้นค่ะ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เมื่อแอลกอฮอล์เจือปนผ่านไปกับน้ำนมและเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อย อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านสมองของลูกและสุขภาพของคุณแม่ไม่ว่าจะดื่มมาก ดื่มน้อย หรือแค่เพียงจิบเดียว ก็ถือว่าไม่ควรและเสี่ยงอันตราย เพื่อพัฒนาการที่ดีทางด้านสมองของลูกน้อยและเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณแม่เองค่ะ

  • ผลไม้รสเปรี้ยว

ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวบางชนิดจะมีกรดสูง เช่น ส้ม มะนาว กีวี่ สตอเบอร์รี่ สับปะรด เป็นต้น อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการคันตามผิวหนังหรือเป็นผื่นผ้าอ้อมได้ค่ะ สำหรับคุณแม่ที่ต้องการเพิ่มวิตามินซีในน้ำนม แนะนำให้กินสับปะรดหรือมะม่วงแทนก็ได้ค่ะ

  • ธัญพืชบางชนิด

อาหารจำพวกที่ทำจากนมถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพดและถั่ว เป็นกลุ่มอาหารที่มีโปรตีนสูง อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้จากอาหารเหล่านี้ได้ค่ะ โดยเฉพาะสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ที่มีอยู่ในถั่วลิสง อาจทำให้เด็กมีอาการหายใจเสียงดัง มีผื่นขึ้นตามตัวหรือเป็นลมพิษได้ รวมถึงอาการแพ้กลูเตนที่พบได้ในข้าวสาลี อาจทำให้เด็กมีอาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะและท้องเสียได้ค่ะ

 

  • คาเฟอีน

คาเฟอีนที่มีมากใน กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต และไอศกรีมนั้น มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารก เมื่อคุณแม่ดื่มหรือกินเข้าไปคาเฟอีนจะคงอยู่ในร่างกายนานถึง 5-7 ชั่วโมง และใช้เวลานาน 24 ชั่วโมงกว่าจะถูกขับออกจากร่างกายทั้งหมด ทั้งนี้หากทารกกินนมที่มีสารคาเฟอีนเข้าไปอาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย น้ำมูกไหล และหลับยากได้ค่ะ

  • อาหารรสจัด

รสชาติของน้ำนมจะเปลี่ยนไปตามอาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนกิน หากชอบกินอาหารรสจัดในช่วงที่กำลังให้นมก็จะส่งผลในเรื่องของอารมณ์ของลูกน้อย สังเกตได้ว่าลูกจะมีอาการหงุดหงิดง่าย ร้องไห้ไม่หยุด นอนหลับน้อย และตื่นขึ้นมาภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นคุณแม่ควรเลี่ยงกินอาหารรสจัด และหันมากินอาหารที่มีส่วนผสมของกระเทียมที่มีสารอัลลิซินแทน จะช่วยในการผลิตน้ำนมและช่วยให้ลูกน้อยกินนมแม่ได้เยอะมากขึ้นค่ะ

  • นมวัว

ในช่วงที่เพิ่งคลอดและให้นมลูก หากคุณแม่ลูกอ่อนกินอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของนมวัวเข้าไป อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้โปรตีนนมได้ค่ะ ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกน้อยเกิดกรดไหลย้อน อุจจาระผิดปกติ และมีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มได้ค่ะ

  • ผักและผลไม้ที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร

ผักและผลไม้ที่คุณแม่ลูกอ่อนควรเลี่ยงในช่วงให้นมลูก คือผักตระกูลกะหล่ำ เช่น ดอกกะหล่ำปลี บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง และควรเลี่ยงกินผลไม้บางประเภท เช่น กล้วยหอม สตรอว์เบอร์รี เชอร์รีและลูกพรุนที่เต็มไปด้วยแก๊ส ที่อาจส่งผลทำให้ทารกมีลมในกระเพาะอาหาร มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด และไม่สบายตัวได้ค่ะ

  • อาหารหมักดอง

อาหารหมักดอง เช่น ปูดอง หอยดอง โดยเฉพาะผลไม้ดองทั้งหลายมักเต็มไปด้วยโซเดียมและเกลือในปริมาณที่สูง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของลูกน้อย อีกทั้งยังอาจปนเปื้อนสารต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ได้เช่นกัน

.

อาหารบางอย่างคุณแม่สามารถกินหรือดื่มได้ แต่ไม่ควรกินหรือดื่มมากเกินไป ช่วงหลังคลอดถือเป็นช่วงที่วัยทารกจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหาร จากน้ำนมแม่มากที่สุด เพราะนมแม่จะผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูก ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลือกกินอาหารที่บำรุงน้ำนม และต้องระมัดระวังในการรับประทานเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดี

.

ขอขอบคุณข้อมูล : kapook.com , vichaivej-omnoi.com , rattinan.com

—————————————————————

สามารถติดตาม Mommydaddylife ในช่องทาง Facebook 

 https://www.facebook.com/Mommydaddylifeofficial