รู้ไหม? ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เกิดจากสาเหตุใด?
สำหรับคู่แต่งงานที่ต้องการมีเบบี๋ แต่ทำอย่างไรเจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาสักที ทำไมเราจึงลูกยากจัง❓สาเหตุของการ “ท้องยาก” อีกสาเหตุหนึ่งคือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นโรคที่พบได้บ่อยถึงร้อยละ 10 ของสตรีไทย เกิดจากสาเหตุอะไร MommyDaddyLife มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เกิดจากอะไร ท้องได้ไหม รักษาอย่างไรได้บ้าง?
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS : polycystic Ovarian Syndrome) เป็นความผิดปกติในการทำงานของรังไข่ ที่ทำให้กระบวนการการโตของไข่หยุดชะงัก ทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการมีบุตรยาก เป็นโรคของฮอร์โมนที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ พบได้ 5 – 10% ในผู้หญิงทั่วโลก หากมีประวัติครอบครัวหรือมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น อาการที่แสดง ได้แก่ ภาวะที่มี ฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism) ทั้งผลการตรวจเลือด หรือจากลักษณะ หน้ามัน ขนขึ้นผิดปกติ สิวขึ้น ผมร่วง ผมบาง มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
โดย #PCOS คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของหลาย ๆ ระบบ ทำให้เกิดการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่ เกิดเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ในรังไข่ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
เมื่อกระบวนการการโตของไข่หยุดชะงัก ร่างกายจะสูญเสียกลไกการควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด ประจำเดือนขาด สิวขึ้น ผิวมัน มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะยาว และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น
โรคนี้สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อ อินซูลิน (Insulin) โรคอ้วน โรคทางการเผาผลาญ (Metabolic) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น และยังสัมพันธ์กับ ภาวะมีบุตรยาก และการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ ในอนาคต
การตรวจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
การวิจนิจฉัยส่วนมากขึ้นกับประวัติและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้นเป็นหลัก เมื่อเข้ามาพบคุณหมออาจต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ เจาะเลือดเพื่อแยกโรคจากภาวะอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายๆ กันหรือทำให้ไข่ไม่ตกได้ เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ฮอร์โมนน้ำนมผิดปกติ ร่วมกับการตรวจยืนยันดูภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ โดยการอัลตราซาวน์ ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งทางหน้าท้องและช่องคลอด
การตรวจร่างกาย อาจจะไม่พบความผิดปกติอะไรเลย หรือพบว่ามีสิวมากกว่าปกติ ผิวมัน บางรายอ้วน หรือแม้แต่คนที่มีรูปร่างผอมบางก็พบได้บ่อย ส่วนการตรวจฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ จะพบภาวะความไม่สมดุลของฮอร์โมน การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด จะพบลักษณะของรังไข่ที่เฉพาะตัว คือจะเห็นไข่อ่อนอยู่ภายในรังไข่เป็นจำนวนมาก และจัดเรียงตัวอยู่ที่ผิวรังไข่คล้ายสร้อยไข่มุก ซึ่งเป็นลักษณะของการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ที่สรุปได้ว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังได้ถูกต้องที่สุด
ภาพอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดแสดงลักษณะรังไข่ที่มีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง ภายในจะเป็นช่องว่างสีดำซึ่งเป็นที่อยู่ของไข่อ่อนจำนวนมาก (ภาพจาก www.phyathai-sriracha.com)
เกณฑ์ในการวินิจฉัย Rotterdam PCOS Diagnostic Criteria (2/3 ข้อ)
● ประจำเดือนผิดปกติ : ขาดประจำเดือน หรือมีประจำเดือนขาด (Amenorrhea, Oligomenorrhea)
● มีลักษณะทางคลินิก หรือผลตรวจเลือดเข้าได้กับภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism)
● ลักษณะทางการอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) พบมีถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กกว่า 1 cm. หลายใบ
การดูแลรักษา
- ลดน้ำหนัก ให้อยู่เกณฑ์สมส่วน ช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากฮอร์โมนเพศที่สร้างจากเซลล์ไขมัน ช่วยให้การทำงานของรังไข่ดีขึ้น โดยมีรายงานการ ศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่าการลดน้ำหนักลงเพียงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัวก็ทำให้การทำงานของรังไข่กลับมาปกติได้ถึงร้อยละ 50
- ออกกำลังกายเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การเผาผลาญพลังงานดีขึ้น รวมถึงการทำงานของรังไข่ดีขึ้นด้วยค่ะ
- สำหรับสตรีที่ไม่ต้องการมีบุตร แนะนำพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับฮอร์โมนปรับให้มีการหลุดลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยอาจรับยาปรับประจำเดือน หรือยาคุมกำเนิดตามความเหมาะสม
- สำหรับสตรีที่ต้องการมีบุตร แนะนำพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับยากระตุ้นไข่รูปแบบรับประทานหรือรูปแบบฉีดอย่างเหมาะสม
- อาหารเสริมหรือยาอื่น ๆ
แนวทางการรักษาเพื่อรักษาการมีบุตรยาก
- การใช้ยากระตุ้นไข่ตกชนิดกิน : อาจจะใช้ร่วมกับยาบางตัวในการช่วยให้รังไข่ตอบสนองยากระตุ้นได้ดีขึ้น เช่น การใช้ยารักษาเบาหวาน Meformin ในกรณีที่ไม่ได้ผล สามารถรักษาขั้นต่อไป
- การใช้ยากระตุ้นไข่ชนิดฉีดขนาดต่ำที่สุด : เพื่อกระตุ้นให้มีไข่แต่ต้องการจำนวนน้อยกว่า 3 ใบ ในกรณีกระตุ้นสำเร็จ อาจใช้การมีเพศสัมพันธ์ธรรมชาติถ้าน้ำเชื้อปกติ หรือใช้การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกในกรณีที่น้ำเชื้ออ่อนไม่มาก ถ้าไม่สำเร็จใช้วิธีการรักษาขั้นต่อไป
- การใช้ยากระตุ้นไข่ชนิดฉีดขนาดต่ำ : เพื่อให้มีการโตของไข่หลายใบ เพื่อการผสมภายนอก ร่วมกับการแช่แข็งตัวอ่อน เพื่อรอการย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกหลังจากร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติในรอบประจำเดือนธรรมชาติ เป็นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ควบคุมสภาวะฮอร์โมนในร่างกายไปด้วย เพื่อให้จำนวนไข่และระดับฮอร์โมนในร่างกายน้ันไม่สูงจนอยู่ในระดับที่อันตราย และการย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง นอกจากการฝังตัวจะสูงกว่ารอบกระตุ้นไข่แล้ว ยังลดภาวะแทรกซ้อนจากระดับฮอร์โมนที่สูงเกินไป ทำให้การควบคุมร่างกายช่วงกระตุ้นไข่และหลังเก็บไข่ทำได้ง่ายขึ้น เป็นการช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้อีกทางหนึ่ง
- การเก็บไข่อ่อนที่ไม่ได้ผ่านการกระตุ้นไข่ออกมาทางช่องคลอด และมาเลี้ยงให้โตในสภาวะที่เหมาะสม : หลังจากนั้นนำมาผสมกับอสุจิด้วยวิธีอิกซี่ (ICSI) เพื่อเป็นตัวอ่อน และย้ายกลับเข้ามดลูกแบบเดียวกับการย้ายตัวอ่อนหลังการทำเด็กหลอดแก้ว วิธีนี้ช่วยหลีกเลี่ยงการกระตุ้นไข่ ทำให้ไม่เกิดภาวะบวมน้ำ แต่อัตราการตั้งครรภ์ยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้วตามปกติ
สามารถติดตามข้อมูล #MommyDaddyLife เพิ่มเติมได้ที่
Facebook : mommydaddylifeofficial
TikTok : mommydaddylifeofficial
Youtube : mommydaddylife-MDL
Website : www.mommydaddylife.com