Social Share

 

ด้วยปัจจัยหลายอย่างในปัจจุบันทำให้เหล่าคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 35+ มากขึ้น ซึ่งช่วงวัยนี้มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์มากกว่าปกติ เพราะเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นเซลล์ไข่มีโอกาสเสื่อมสภาพลงหรือฝ่อตัวลงตามอายุ คุณภาพของไข่อาจลดลง ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิอาจเสี่ยงต่อการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติได้ ทำให้มีโอกาสแท้งสูงหรือทำให้ทารกเกิดความผิดปกติได้ รวมถึงมีความเสี่ยงเรื่องโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ต่าง ๆ สูง เช่น โรคเบาหวาน คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ และโรคประจำตัวที่อาจจะเพิ่งพบในช่วงที่อายุเพิ่มขึ้น ทารกในครรภ์เองก็เสี่ยงมีภาวะดาวน์ซินโดรมและมีความผิดปกติของยีนได้ ดังนั้นคุณแม่ในวัยนี้ควรได้รับการดูแลและระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในอายุมากกว่า 35 นอกจากต้องรับการตรวจครรภ์ตามปกติแล้ว จำเป็นจะต้องตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ เพิ่มด้วย สิ่งที่คุณแม่อายุ 35+ ต้องได้รับการตรวจ คือ

  1. ตรวจพาหะธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อยที่พบบ่อยในไทย มีผู้ที่มียีนโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินแฝงผิดปกติสูง และเนื่องจากผู้ที่มียีนโรคธาลัสซีเมียแฝงจะไม่มีอาการ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจกรองภาวะที่มียีนโรคธาลัสซีเมียแฝงที่สำคัญ ได้แก่ แอลฟาธาลัสซีเมียแฝง เบต้าธาลัสซีเมียแฝง ฮีโมโกลบินอีแฝง และโฮโมซัยกัสฮีโมโกลบินอี หากสะดวกทั้งคุณพ่อและคุณแม่ควรได้รับการตรวจเลือดวิเคราะห์สารพันธุกรรมโรคธาลัสซีเมียหรือฮีโมโกลบินผิดปกติ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงธาลัสซีเมีย

  1. ตรวจคัดกรองความผิดปกติโครโมโซม

ในคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35  แนะนำให้ทำการทดสอบ Non-invasive prenatal testing หรือ NIPT การเจาะเลือดมารดาเพื่อตรวจคัดกรองภาวะผิดปกติของโครโมโซม ประเมินความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเกิดกลุ่มอาการของดาวน์ซินโดรมหรือความผิดปกติของโครโมโซมอื่นๆ ซึ่งมีความแม่นยำสูง และมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ ไม่ต้องเสี่ยงเจาะน้ำคร่ำ แต่หากคัดกรองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงอาจต้องมีการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจเพิ่มเติม

  1. ตรวจภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง

คุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาภาวะเบาหวาน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูงตลอดการตั้งครรภ์ เพราะคุณแม่ในวัยนี้มักมีภาวะความดันโลหิตสูงและเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าคุณแม่ที่อายุน้อย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุมากหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควร

  1. ตรวจคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษระหว่างตั้งครรภ์ (Toxemia of Pregnancy)

สามารถทำการตรวจด้วยการตรวจปัสสาวะคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะบ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ภาวะนี้เป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ หากไม่มีการตรวจพบหรือได้รับการรักษาที่ไม่ดีพอ อาจส่งผลให้คุณแม่หรือทารกเสียชีวิตได้  สามารถตรวจภาวะครรภ์เป็นพิษได้ก่อนในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ 6 วัน เพื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

  1. การตรวจภาวะแทรกซ้อนและความสมบูรณ์ของทารกด้วยอัลตร้าซาวด์

คุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างละเอียดเมื่ออายุครรภ์ 5 เดือน เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูโครงสร้างร่างกายทารกในครรภ์ ตรวจดูอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายของทารกอย่างละเอียด สามารถเห็นความผิดปกติของทารกได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า รวมถึงความผิดปกติของหัวใจด้วยเช่นกัน หากพบความผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยในวิธีอื่นต่อไป

  1. การตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดสูง ด้วยร่างกายในช่วงอายุนี้มักเกิดปัญหารกเกาะต่ำ หรือรกลอกก่อนคลอด รวมถึงทารกแรกคลอดอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ สามารถตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนดได้โดยการวัดความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Transvaginal Cervical Length Measurement) เพื่อป้องกันและดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Fill out this field
Fill out this field
Please enter a valid email address.
You need to agree with the terms to proceed