Social Share

แชร์วิธีรับมือลูกร้องไห้ ดิ้นบนพื้นนอกบ้าน

เมื่อเจ้าตัวน้อยชอบแสดงอาการร้องไห้ กรี๊ด ทุบตัวเองโวยวาย อาละวาด และลงไปนอนดิ้นกับพื้นเวลาถูกขัดใจในที่สาธารณะ คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกน้อยของเราแน่นอน พฤติกรรมแบบนี้ สามารถพบได้ในเด็กวัยขวบกว่าขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองค่ะ

MommyDaddyLife มาแชร์วิธีรับมือและฝึกฝนเพื่อให้ลูกน้อย ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือและฝึกฝนลูกน้อยสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้าง EQ ให้ลูกได้ ให้ลูกได้รู้จักอารมณ์ของตนเอง และฝึกควบคุมหรือระงับอารมณ์ของตนเองได้ดีค่ะ

วิธีรับมือลูกอาละวาดนอกบ้าน

อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจก่อนว่า “ความดื้อ” เป็นพัฒนาการตามวัยของเด็กอย่างหนึ่ง ที่เด็กเริ่มมีความรู้สึกอยากเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) การที่เด็กเล็กวัย 0-6 ปี แสดงอาการต่อต้านพ่อแม่ เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและพัฒนาการ ในฐานะพ่อแม่คุณควรรู้ให้ทันพัฒนาการของลูกน้อย และเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยนั้น ๆ

.

เด็กดื้อเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เป็นการแสดงออกถึงการเติบโตทางจิตใจว่าลูกของคุณกำลังคิดด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผล และตัดสินใจเลือก เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยทางชีวภาพที่ติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด และพื้นอารมณ์นี้จะติดตัวคนเราไปตลอดชีวิต โดยอาจเปลี่ยนแปลงได้บ้างตามการเลี้ยงดู เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผล และตัดสินใจเลือก ลองมาดูวิธีรับมือลูกร้องไห้เอาแต่ใจนอกบ้านกันค่ะ ว่ามีวิธีอะไรบ้าง?

👶🏻 จับให้ลูกหยุด

อุ้มลูกขึ้น จับให้เขาหยุด หากเห็นว่าลูกร้องไห้มีอาการรุนแรงถึงขั้นขว้างปาสิ่งของ หรืออาจได้รับอุบัติเหตุ ให้คุณพ่อคุณแม่รีบเข้าไปรวบตัว อุ้มจับให้เค้าหยุดทันที แล้วค่อย ๆ พูดกับลูกว่า ไปกันลูก หนูทำแบบนี้ไม่ได้นะ ห้ามทำลายข้าวของ แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่ทำไม่ได้

👶🏻 นิ่งเฉยไม่สนใจ ใช้ความนิ่งสยบลูก

นิ่งเฉยไม่สนใจ ทั้งคำพูด ท่าที สายตาใช้ความนิ่งสยบลูก หากอยู่ที่สาธารณะกลางห้างหรือตลาด ให้จับลูกออกมาห่างจากสินค้า หรือคนอื่นจะได้ไม่รบกวนคนอื่น ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม ก็ควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่นแทน แต่อย่ามีท่าทีทอดทิ้งลูกไป บอกลูกว่าแม่จะไปก่อนหากหนูไม่เงียบ แล้วรอให้เค้าสงบสติอารมณ์ก่อน แล้วค่อยเดินเข้าไปหาลูก

👶🏻 ไม่ตะคอก หรือหงุดหงิดใส่

ไม่ตะคอก ตำหนิ ลงโทษ ตี ดุว่า หรือหงุดหงิดใส่  เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกอยากเอาชนะ และการใช้กำลังจะทำให้ทำลูกรู้สึกกดดัน เกิดการต่อต้านหนักมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ความรุนแรง ไม่ลงโทษเมื่อลูกร้องอาละวาด

👶🏻 พูดด้วยเหตุผล

พูดด้วยเหตุผล เพราะเด็กบางคนแค่ต้องการความสนใจ ให้รู้ว่าเขาไม่พอใจหรือเสียใจ หากคุณพ่อคุณแม่พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ถามถึงเหตุผลกับลูก บอกเหตุและผล แรกๆ ลูกอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ  แต่ถ้าสอนบ่อยๆ ลูกก็จะรู้ได้เอง หรืออาจจะสัญญากับเค้าก่อนว่า ถ้าลูกอยากไปด้วย ห้ามงอแงห้ามโวยวาย ไม่งั้นแม่จะไม่พาไปข้างนอกอีกสอนให้เข้ารักษาสัญญา

👶🏻 ดึงดูดความสนใจลูกด้วยสิ่งอื่น

ดึงดูดความสนใจลูกด้วยสิ่งอื่น เวลาที่ลูกร้องไห้บนพื้น คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจในช่วงแรกโดยเฉพาะเด็กเล็ก เช่น “ไม่ร้องนะคะคนเก่ง อุ้ย..ไปดูปลาตรงโน้นกันดีกว่า”  “ดูสิตรงนั้นมีแมวเหมียว ไปดูกันนะจ๊ะ”  หรือ ลองหาของเล่นเด็กดึงดูดความสนใจ ซึ่งเป็นของเล่นที่ดึงดูดความสนใจได้ดี ปรับเปลี่ยนการเล่นได้หลากหลาย ให้เด็ก ๆ ไม่เบื่อง่าย ๆ

👶🏻 ปลอบด้วยการกอด 

ปลอบด้วยการกอด หากลูกทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นหรือทำลายข้าวของ ให้จับลูกออกมาจากบริเวณนั้น กอดหรือจับมือลูกไว้จนกว่าเด็กจะสงบ เด็กบางคนเค้าแค่ต้องการความสนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจแค่กอดเค้าเบาๆ และพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ลูกเป็นอะไร ลูกเจ็บตรงไหนรึเปล่า หรืออยากได้อะไร อยากให้คุณแม่ทำอะไรให้ครับ วิธีการนี้เป็นการดึงสติ แล้วเค้าจะค่อยๆ รู้สึกถึงการสัมผัสที่นุ่มนวล รู้สึกได้รับการใส่ใจ แล้วความโกรธ โมโห น้อยใจต่างๆ จะลดลงค่ะ

👶🏻 เมื่อลูกสงบแล้วให้เข้าไปคุยกับตามปกติ

เมื่อลูกเงียบแล้ว ให้คุณกลับไปหาลูก คุยและซักถามถึงสิ่งเกิดขึ้นและวิธีการแก้ไข พูดด้วยเหตุและผลและแสดงความเข้าใจ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวด้วยตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้ดีกว่าการรอคำสอนอย่างเดียว เพื่อให้ลูกรู้จักความอดทน รู้จักรอ  ซึ่งช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าสอนบ่อย ๆ ลูกก็จะรู้ได้เอง เป็นการฝึกให้ลูกมี EQ คือ ความฉลาดทางด้านอารมณ์ รู้อารมณ์ของตนเอง สามารถควบคุมหรือระงับอารมณ์ของตนเองได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ

.

ในขณะที่ลูกอาละวาด คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องสังเกตและดูแลความปลอดภัยให้ลูก พ่อแม่ต้องตรวจสอบสถานที่โดยรอบว่าปลอดภัยหรือไม่ในขณะที่ลูกร้องดิ้นบนพื้น เช่น ไม่มีสิ่งของแตกหัก ไม่มีของใช้ที่จะตกหล่นลงมาทำอันตราย ลูกไม่ทำร้ายใคร หรือขว้างปาข้าวของ เพราะหากมีสิ่งที่เป็นอันตรายหรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุควรรีบหยุดลูก และอุ้มพาลูกออกไปทันที ไม่ต้องรอปลอบโยน หรือปล่อยให้ลูกสงบเอง แม้ลูกจะร้องอยู่ก็ตาม

.

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่พยายามลองทุกวิธีแล้ว แต่ลูกก็ยังดิ้น ไม่เชื่อฟัง ต่อต้านอยู่ตลอด  อาจลองพาลูกไปปรึกษาคุณหมอดูค่ะ เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่าเดิม

.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : samitivejhospitals.com , synphaet.co.th

 

———–

สามารถติดตามข้อมูล #MommyDaddyLife เพิ่มเติมได้ที่

Facebook : mommydaddylifeofficial

TikTok : mommydaddylifeofficial

Youtube : mommydaddylife-MDL

Website : www.mommydaddylife.com