Social Share

ลูกน้อยงอแงเพราะท้องอืด ต้องทำอย่างไร?

 

เมื่อลูกน้อยท้องอืด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว เกิดขึ้นได้เป็นปกติและมักไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีแก้และบรรเทาอาการเพื่อช่วยคลายความอึดอัดให้ลูกน้อยอย่างไรบ้าง

MommyDaddyLife รวบรวมความรู้และคำแนะนำมาฝากค่ะ รวมทั้งการสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่รุนแรงได้ค่ะ

ลูกน้อยท้องอืดเกิดจากสาเหตุอะไร?

สาเหตุที่ลูกน้อยท้องอืด อึดอัด หรือไม่สบายท้อง เกิดจากการมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ลมจะไปสะสมอยู่ในท้องของลูกน้อย ทำให้รู้สึกไม่สบายและแน่นท้องก่อนที่จะได้กินนมเพียงพอในครั้งต่อไป โดยอาการท้องอืดอาจมาจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  1. ลูกดูดนมเร็วเกินไป หากน้ำนมจากเต้านมแม่หรือจุกขวดนมไหลออกมามากเกินไป ลูกน้อยจะต้องกลืนน้ำนมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารได้มากเช่นกัน
  2. ลูกดูดนมช้าเกินไป อาจเป็นเพราะลักษณะของจุกนมหรือหัวนมแม่ เช่น หัวนมบอด หรือจุกขวดนมมีรูเล็ก ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อยหรือไหลช้า ทำให้ลูกต้องกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้นระหว่างดูดนม
  3. ลูกดูดนมที่มีฟองอากาศมากเกินไป สำหรับทารกที่ดื่มนมผง เช่น การดูดนมจากขวด หรือกินนมผงที่มีฟองอากาศ ในระหว่างขั้นตอนชงนมผงผสมกับน้ำอาจมีฟองอากาศเกิดขึ้น ทารกหากกลืนฟองอากาศมากเกินไปอาจท้องอืดได้ ดังนั้น หลังผสมนมเสร็จแล้วควรทิ้งไว้สัก 2–3 นาที เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัวก่อนให้ลูกน้อยดื่ม
  4. ลูกร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก คุณแม่จึงควรคอยปลอบให้ลูกหยุดร้องไห้โดยเร็ว
  5. ลูกแพ้โปรตีนจากอาหารบางชนิดในนมผง โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส รวมถึงโปรตีนในนมผงและน้ำนมแม่ เพราะอาหารที่คุณแม่ทานอาจไหลผ่านน้ำนมและส่งผลให้ลูกน้อยท้องอืดได้ แม้ไม่ได้ทานเองโดยตรง

นอกจากนี้ การทานอาหารบางประเภทอาจทำให้ลูกน้อยมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ เช่น พืชตระกูลถั่ว บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี รำข้าว ข้าวโอ๊ตบด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น

.

เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารของทารกในช่วง 3 เดือนแรกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเมื่อดื่มนมแม่จึงเป็นเรื่องปกติ อาการของทารกจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่เริ่มรับประทานอาหารชนิดอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว ในช่วงแรกระบบย่อยอาหารอาจยังไม่คุ้นชินกับอาหารชนิดใหม่ ๆ ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน หลังจากที่ทารกกินนมเสร็จแล้ว ดังนั้นคุณแม่ควรจับให้ลูกเรอเพื่อขับลม

อาการบ่งบอกว่าลูกน้อยท้องอืด

อาการท้องอืด เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้เมื่อลูกน้อยแสดงอาการ ดังนี้

  1. ร้องไห้งอแง หงุดหงิด ใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง
  2. กำมือแน่น ยกขาขึ้นสูงไปทางหน้าท้อง
  3. ยืดแอ่นตัว ดิ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากที่กินนมเสร็จ
  4. ท้องป่องมาก ท้องแข็ง เมื่อเอามือเคาะท้องจะได้ยินเสียงเหมือนมีลมอยู่ข้างใน
  5. ทารกบางคนอาจมีอาการนอนกรน หรือหายใจทางปากร่วมด้วย เพราะท้องอืดทำให้หายใจได้ไม่ดีนัก

อย่างไรก็ตาม ทารกมักรู้สึกสบายตัวขึ้นและหยุดร้องไห้หลังผายลมหรือเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดทั้งที่ผายลมออกมาแล้ว อาจแสดงว่าสัญญาณผิดปกติดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น

ท้องอืดแบบไหนจึงเป็นอันตราย

การที่ลูกท้องอืดเป็นบางครั้งถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติค่ะ ไม่เป็นอันตรายต่อทารกและสามารถรักษาได้ ทารกมักรู้สึกสบายตัวขึ้นและหยุดร้องไห้หลังจากผายลมหรือเรอออกมา แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุดทั้งที่ผายลมออกมาแล้ว ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น หากสงสัยว่าลูกน้อยท้องอืดร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

  1. ถ่ายไม่ออก ไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน
  2. อุจจาระมีเลือดปน
  3. ท้องเสีย อาเจียน
  4. ร้องไห้งอแงไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
  5. มีไข้สูง โดยเฉพาะเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป

หากลูกมีอาการอื่น ๆ ข้างต้นควบคู่ไปกับการท้องอืด คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาอาการอีกครั้ง การมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของความผิดปกติทางระบบย่อยอาหารได้ค่ะ

วิธีบรรเทาอาการท้องอืดของลูกน้อย

คุณพ่อคุณแม่ควรบรรเทาอาการท้องอืดของลูกน้อย โดยการกระตุ้นให้เรอออกมาระหว่างป้อนนมและหลังป้อนนมเพื่อระบายแก๊สในกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยบรรเทาอาการอึดอัด ปวดท้อง ไม่สบายตัว มีวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  1. หลังจากที่ลูกกินนมเสร็จแล้ว ทำให้ลูกเรอด้วยการอุ้มลูกพาดบ่า ให้คางพักอยู่บริเวณไหล่ของแม่ และลูบหลังลูกเบา ๆ (ลูบลงอย่างเดียว) ประมาณ 10-20 นาที หรือจับลูกนั่งตัก โดยใช้มือประคองช่วงคอให้โน้มไปข้างหน้า แล้วลูบหลัง หรือจับลูกนอนคว่ำพาดบนตัก ใช้มือประคองยกหัวลูกให้สูงกว่าหน้าอก แล้วค่อย ๆ ใช้มืออีกข้างลูบหลัง
  2. นวดท้องให้ลูก จับลูกวางในท่านอนหงายแล้วนวดบริเวณหน้าท้องเบา ๆ โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างค่อย ๆ นวดบริเวณหน้าอกไล่ลงมาใต้สะดือ แล้วหมุนมือวนตามเข็มนาฬิกาประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยไล่ลม ลดอาการท้องอืด และช่วยให้ระบบหมุนเวียนของลำไส้ดีขึ้น
  3. จับขาลูกปั่นจักรยานอากาศ หรือวางลูกในท่านอนหงายจากนั้นจับขาทั้ง 2 ข้างขยับขึ้นลงสลับกันคล้ายปั่นจักรยาน จะช่วยขับลมออกจากช่องท้องได้
  4. วางลูกในท่านอนคว่ำบนตัก ให้ศรีษะอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย แล้วใช้มือตบหลังของลูกน้อยเบา ๆ
  5. ทายามหาหิงค์ เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ โดยชุบสำลีแล้วนำมาทาที่หน้าท้อง ฝ่ามือ และฝ่าเท้าของลูก จะมีไอระเหยและฤทธิ์ความร้อนจากตัวยา เมื่อลูกสูดดมเข้าไปจะช่วยขับไล่ลม ทำให้ลูกน้อยผายลมออกมา
  6. นำใบกะเพราประมาณ 20-30 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดและนำมาบดจนมีน้ำสีดำออกมาจากใบกะเพรา นำน้ำสีดำที่ได้มาทาที่หน้าท้อง ฝ่ามือและฝ่าเท้าของลูก ก็จะช่วยขับลมได้เช่นกัน
  7. กินยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อสำหรับทารก เช่น ไกร๊ปวอเตอร์ (Gripe Water) เป็นยาน้ำชนิดรับประทานมักใช้ในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป

.

หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วลูกน้อยยังไม่เรอออกมา อาจจำเป็นต้องใช้ยาไซเมทิโคน ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขับลมและบรรเทาอาการท้องอืด นอกจากมีความปลอดภัยสูงเพราะตัวยาไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ในปัจจุบันยังมียาไซเมทิโคนชนิดน้ำ ทารกจึงรับประทานได้ง่าย อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้บางราย จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาชนิดนี้

.

อาการท้องอืดในเด็กทารกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือว่ารักษาด้วยวิธีใดลูกก็ยังไม่ดีขึ้น และยังมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนขึ้นมาด้วย แนะนำว่าควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com , kapook.com

#Mommydaddylife #Mommydaddylifeofficial #Genode #GenodeThainipt #ตั้งครรภ์ #คนท้อง #คุณแม่มือใหม่

————————

สามารถติดตาม #Mommydaddylife ในช่องทางอื่นๆ

Facebook : mommydaddylifeofficial

TikTok : mommydaddylifeofficial

Youtube : mommydaddylife-MDL

Website : www.mommydaddylife.com